top of page

งานนำเสนอสาธารณะ “กรุงเทพฯ 250”

13/07/2016

“กรุงเทพ250”

ในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร ร่วมกับศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จัดให้มีงานนำเสนอสาธารณะ “กรุงเทพฯ 250²” โดยมี คุณจุมพล สำเภาพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานในงานครั้งนี้  

 

ภายในงาน คณะทำงานนำโดย ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ได้นำเสนอผลลัพธ์การออกแบบพื้นที่นำร่องเพื่อการฟื้นฟูย่านเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการต่อยอดจากผลการศึกษาในระยะที่ 1 โดยมีการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ใน 3 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ ย่านท่า-พระจันทร์-ท่าช้าง-ท่าเตียน / ย่านโยธี-ราชวิถี / ย่านทองหล่อ-เอกมัย รวมทั้งพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ โครงการทางเท้าสัญจรข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้าฯ (สะพานด้วน) และพื้นที่บริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรรอบสถานีขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการร่วมหารือในรูปแบบ และวิธีการต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 40 ครั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจและรวบรวมความคิดเห็น ความต้องการ รวมถึงข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคีพัฒนา เพื่อให้ได้ข้อเสนอเพื่อการฟื้นฟูเมืองที่ครบถ้วนรอบด้านมากที่สุด และยังมีการจัดแสดงนิทรรศการที่บอกเล่าที่มา ความสำคัญ รายละเอียด และผลลัพธ์ของโครงการ ภายในบริเวณงานด้วย
 

นอกจากนั้น ยังมีมินิทอร์คโชว์ "คนเมือง มีเรื่องพูด" ซึ่งได้รับเกียรติจาก พลตรี นายแพทย์สายัณห์ สวัสดิ์ศรี ผู้ผลักดันราชวิถี สู่ย่านโรงพยาบาลเดินดี เพื่อประโยชน์สาธารณะ / คุณปรีห์กมล จันทรนิจกร ผู้ก่อตั้ง Ma:D club for change แห่งย่านเอกมัย / คุณวิริทธิพล ธนาโรจน์ปิยทัช คนรุ่นใหม่ ลูกหลานย่านท่าเตียน / คุณกชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกที่คร่ำหวอดกับงานเมือง / คุณดาลี ฮุนตระกูล และคุณภรณ์พัทธ์ สหเจริญวัฒน์ สถาปนิกผังเมือง และผู้ก่อตั้ง the Great Outdoor Market / คุณยรรยง บุญ-หลง สถาปนิกนักสำรวจเมือง เจ้าของผลงาน 'กรุงเทพฯ: ขนส่งทำมือ' ร่วมเล่าเรื่องราวของเมืองในมุมมองที่แตกต่างกัน โดยมีคุณไชยวัฒน์ อนุตระกูลชัย เป็นผู้ดำเนินรายการ

โครงการกรุงเทพฯ 250 คือ โครงการจัดทำผังแม่บทการฟื้นฟูเมือง ในวาระครบรอบ 250 ปีของกรุงเทพฯ ในปี 2575 มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมกายภาพของพื้นที่เขตเมืองชั้นใน ให้มีความน่าอยู่ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมแก่คนหลากหลายกลุ่มของเมือง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับมหานครต่างๆ ของอาเซียน ภายใต้กระบวนการร่วมหารือกับประชาชนในพื้นที่ พร้อมกับภาคีพัฒนาจากภาครัฐ เอกชน การศึกษา และประชาสังคม

bottom of page