top of page

ผู้อำนวยการ UddC-CEUS ชี้ข้อมูลเป็นพื้นฐานสำคัญของโครงการวิจัยเชิงพื้นที่ พร้อมเสนอให้สร้างแพลตฟอร์มฐานข้อมูล เพื่อให้ท้องถิ่นเข้าใจสถานการณ์เมือง และผลักดันการพัฒนาตรงจุด

06/03/2020

6 มี.ค. 63 - ศูนย์ส่งเสริมและประสานงานการวิจัยเพื่อการปกครองของท้องถิ่น (สวปท.) ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และ สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมสัมมนาระดมปัญญา "นโยบายใหม่ แนวคิดใหม่ และโจทย์วิจัยใหม่เพื่อการกระจายอำนาจ" ณ โรงแรม Movenpick สุขุมวิท 15 มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในประเด็นการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่นของประเทศไทยในภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคส่วนราชการ สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายนักวิจัย ร่วมรับฟังองค์ความรู้และข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำความเข้าใจบริบทการเปลี่ยนแปลงด้านท้องถิ่นของประเทศไทย

เวทีเสวนาได้รับเกียรติจากอาจารย์สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมและองค์กรสัมพันธ์ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานแผนงานพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด (SIP) ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.วสันต์ เหลืองประภัสร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้อำนวยการ UddC-CEUS กล่าวว่า โครงการวิจัยที่ดีจำเป็นต้องมีข้อมูลเป็นพื้นฐานและสามารถผลักดันสู่การแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย อย่างไรก็ตาม ระบบฐานข้อมูลกลางและการเข้าถึงข้อมูล ยังเป็นข้อจำกัดของการทำโครงการวิจัยในประเทศไทย โดยเฉพาะการวิจัยเชิงพื้นที่ จึงเสนอให้มีการผลักดันแพลตฟอร์มรวมข้อมูลเมืองสำคัญในทั้ง 77 จังหวัด เพื่อประโยชน์ต่อนักวิจัยในการดำเนินงานวิจัย ขณะเดียวกันก็มีประโยชน์กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินนโยบายที่สอดรับกับความต้องการที่แท้จริงของเมือง เนื่องจากรู้และเข้าใจสถานการณ์ โอกาส ตลอดจนข้อจำกัดของเมือง

พร้อมยกตัวอย่างโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) ซึ่งใช้ข้อมูลเป็นพื้นฐานสำคัญของโครงการพร้อมกับใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญจากหลายศาสตร์ในการขับเคลื่อนโครงการ อาทิ การออกแบบวางผังเมือง สังคมศาสตร์ และการสื่อสาร เป็นต้น นำไปสู่การขยายผลจริงในกรุงเทพฯและเมืองรองหลายแห่งของประเทศไทย ทั้งนี้ ผู้อำนวยการ UddC-CEUS แนะนำให้นักวิจัยติดตามความเป็นไปของสังคมไทยและสังคมโลก รวมทั้งพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้คนหลากหลายศาสตร์อยู่เสมอ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการคิดโจทย์วิจัยใหม่และสร้างสรรค์วิธีการทำวิจัย

bottom of page