top of page

ผู้ว่าฯ กทม. และผู้แทนรัฐบาล ประชุมหาแนวทางการสร้างพื้นที่ทำกินผู้ค้าแผงลอยควบคู่การฟื้นฟูเมือง

25/05/2020

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เดินหน้าประชุมหารือการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำกินของผู้ค้าแผงลอยที่ได้รับผลกระทบวิกฤตโควิด-19 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในกลุ่มผู้ค้าและผู้มีรายได้น้อย เป็นครั้งที่ 2 ร่วมกับ คุณประสาร หวังรัตนปราณี คุณสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรี และกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคุณสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการ และ ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าราชการ ฟังข้อเสนอที่จัดทำโดยความร่วมมือของนักวิชาการหลายสถาบัน ได้แก่ รศ.ดร.นฤมล นิราธร คณะสังคมสงเคราะห์ ม.ธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ (UddC-CEUS) ดร.บวร ทรัพย์สิงห์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และ อ.ดร.ปาริษา มูสิกะคามะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.รังสิต

ผศ.ดร.นิรมล เป็นผู้แทนคณะทำงานนำเสนอ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ จากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า กทม.มีพื้นที่เพียงพอสำหรับผู้ค้าจำนวนประมาณ 19,000 แผง ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน พื้นที่ที่สามารถรองรับผู้ค้าเหล่านี้ประกอบด้วย

พื้นที่แบบที่ #1 ทางเท้าตามเกณฑ์มาตรฐานของ กทม. อาทิ มีความกว้างเพียงพอ ที่จะกันพื้นที่สำหรับคนเดินเท้าไม่น้อยกว่า 2 เมตร มีแนวกันชนระหว่างขอบทางเท้าและไม่รุกล้ำพื้นที่ถนน ไม่กีดขวางทางเข้าบ้านหรือร้านค้า รวมทั้งมีการรวมกลุ่มของผู้ค้าและมีกลไกในการจัดการดูแลพื้นที่และรักษาความสะอาด โดยเฉพาะมาตรฐานสาธารณสุขหลังโควิท-19

จากการสำรวจพบว่าทางเท้าที่เข้าเกณฑ์สามารถรองรับจำนวนผู้ค้าได้กว่า 46%

แล้วแผงค้าอีก 54% ไปไหน?

จึงนำมาสู่พื้นที่รองรับแบบที่ #2 รัฐบาลสามารถร่วมมือกับ กทม.ปรับปรุงพื้นที่ UNDER-UTILISED ของภาครัฐซึ่งมีอยู่จำนวนมากภายในเมือง แล้วฟื้นฟูเป็นพื้นที่อเนกประโยชน์ของเมือง (MULTI-USED) ทั้งค้าขาย พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลัง ของชาวย่านที่อยู่โดยรอบและชาวเมืองนักท่องเที่ยวที่ผ่านไปมา

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เห็นด้วยกับแนวทางที่เสนอเพราะสอดคล้องกับนโยบายของ กทม. และสั่งปลดล็อคพื้นที่บางจุดที่เข้าเกณฑ์ โดยเน้นย้ำเรื่องการดูแลรักษาความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ และพร้อมตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือแนวทางการจัดการกับพื้นที่จุดอื่นๆต่อไปอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ขอให้คณะทำงานเตรียมพร้อมนำเสนอแนวทางร่วมมือกับรัฐบาลให้สำเร็จดังโมเดลพระปกเกล้าสกายปาร์ค SKYPARK MODEL ที่ กทม.ร่วมมือกับรัฐบาลผลักดันโครงการพื้นที่สาธารณะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจนสำเร็จ

แผงลอยในกรุงเทพฯ ณ ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 19,000 แผงที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักเทศกิจ (2563) แต่หากพิจารณาจำนวนแรงงานที่อยู่ SECTOR นี้มีถึง 140,000 คน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับ HOMENET, 2562) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้น การแก้ปัญหาระยะยาวที่ยั่งยืนกว่าการเยียวยาด้วยเงิน คือ การจัดหาพื้นที่ทำกินให้กับผู้ค้าฯ ซึ่งกรุงเทพฯนั้นมีพื้นที่เพียงพอให้คนทั้งหมดทำมาหากิน เพียงแต่ต้องการการออกแบบวางผังและบริหารจัดการ ซึ่งจะพลิกให้ผู้ค้ารายย่อยเหล่านี้กลายเป็น POWERHOUSE ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองได้อย่างเต็มที่ นับเป็นการลงทุนจากภาครัฐที่คุ้มค่าในระยะยาว

bottom of page